แปรงไฟหรือแปรงถ่าน กับคอมมิวเตเตอร์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัมพันธ์ ทั้งในการทำงานและความบกพร่องร่วมกันได้หลายทาง โดยเฉพาะคอมมิวเตเตอร์ที่เกิดความร้อนจัดขึ้นนั้น มักจะทำให้แปรงแตกชำรุดหรือแตกยุ่ยเป็นผงและเป็นแผ่นบางๆ จับอยู่ตามพื้นเซกเมนท์ของบาร์คอมมิวเตเตอร์ และไปทำให้เกิดวงจรลัดหรือเกิดความต้านขึ้นในวงจรของกระแสได้ง่าย ในทำนองเดียวกันผงถ่านของแปรงชนิดถ่านคาร์บอน บางชนิดที่ไม่มีคุณภาพเมื่อใช้ไปทำใหเกิดสึกหรอ เป็นผงเขม่าจับตามซอกเซกเมนท์ของบาร์คอมมิวเตเตอร์ ก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้คอมมิวเตเตอร์เกิดความร้อนจัดได้
แปรงไฟที่จัดวางไม่ถูกต้องหรือมีคุณภาพไม่เหมาะสมกับมอเตอร์ที่ใช้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มอเตอร์เกิดบกพร่องได้ง่าย โดยเหตุนี้ เมื่อกล่าวถึงคอมมิวเตเตอร์อันเป็นส่วนประกอบของมอเตอร์ หรืออาร์มาเจอร์สำหรับกระแสไฟตรงนี้ จึงจำเป็นต้องอธิบายถึงแปรงไฟให้ผู้อ่านได้รับความรู้ขยายออกไปอีกสักเล็กน้อย
แปรงไฟดังล่าวนี้ อาจประกอบขึ้นหรือแบ่งแยกชนิดแปรงได้ คือ
1. แปรงไฟชนิดโลหพ (Metal)
2. แปรงชนิดถ่าน (Carbon)
แปรงไฟชนิดโลหะ ประกอบขึ้นด้วยโลหะจำนวนทองแดง และมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ
ก. แปรงชนิดลวดตาข่าย (Gauze Brush)
ข. แปรงชนิดโลหะแผ่น (Strip Brush)
ค. แปรงชนิดเส้นลวด (Wire Brush)
แปรงชนิดลวดตาข่าย แปรงชนิดลวดตาแกรง หรือตาข่ายนี้ เป็นแปรงที่มีลักษณะอ่อนดัดงอไปมาได้ มักจะใช้กับคอมมิวเตเตอร์ ที่มีการเสียดสีสัมผัสแต่น้อยประกอบขึ้นมาเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ด้วยลวดทองแดงตาข่ายเส้นเล็กๆ พันทบไปมาหลายๆ ชั้นแล้วอัดแน่น ขนาดความหนาของแปรงประมาณ 1/4-1/2 นิ้ว หรือ อาจจะหนากว่านั้น ทั้งนี้สุดแต่ปริมาตรของกระแสไฟ แปรงชนิดนี้จัดอยู่ในประเภทแปรงที่มีประสิทธิภาพสูง มีการสัมผัสหรือเสียดสีเบาๆ ก็เกิดผลงานได้ดี แต่มักมีราคาแพง
แปรงชนิดโลหะแผ่น แปรงชนิดนี้มีประสิทธิภาพน้อยกว่าแปรงชนิดตาข่าย เนื่อจากความแข็งกระด่างประกอบขึ้นจากแผ่นทองแดงบางๆ หลายๆ แผ่นซ้อนทับและอัดตัวแน่นเป็นแท่งเป็นแปรงที่มีความกระด้างต่อการสัมผัสเสียดสี และไม่ค่อยสม่ำเสมอในครั้งแรก เมื่อนำไปใช้สักพักจึงค่อยสัมผัสได้ง่ายแต่ก็มักเสื่อมคุณภาพได้เร็ว
แปรงชนิดเส้นลวด แปรงชนี้นี้นับเป็นแปรงชนิดแรกที่เริ่มประดิษฐ์ขึ้นก่อนแปรงชนิดอื่นๆ ภายหลังที่ประดิษฐ์แปรงชนิดลวดตะแกรงหรือ ตาข่ายทองแดงขึ้นมาแล้ว แปรงชนิดนี้ก็ขาดความนิยมลงไป เป็นแปรที่ประกอบขึ้นจากเส้นลวดทองแดง ที่มัดรวมแล้วอัดตัวแน่นให้เป็นแท่งสี่เหลี่ยม มีผิวหน้าค่อนข้างแข็งกระด้างคล้ายชนิดแผ่น การสัมผัสสู้แปรงชนิดตะแกรงไม่ได้ ถ้าเป็นแปรงขนาดเล็ก มักจะทำให้ผิวพื้นบาร์ของคอมมิวเตเตอร์เป็นรอยขีดขูดได้ง่าย เวลานำมาใช้จะต้องขลิบ หรือเจียนปลายออกให้รับกับพื้นบาร์คอมมิวเตเตอร์ก็ยุ่งยาก ไม่สะดวก ความนิยมต่อมาจึงขาดไป ภายหลังที่แปรงชนิดลวดตะแกรงออกมาสู่ตลาดแล้ว ก็หันมานิยมใช้แปรงชนิดลวดตะแกรงกันมาก
แปรงไฟชนิดถ่านคาร์บอน (Carbon Brush) แปรงชนิดนี้ มีคุณสมบัติแตกต่างกับแปรงไฟชนิดโลหะดังกล่าว เพราะเป็นแปรงที่ก่อให้เกิดสปาร์ค (Spark) ได้น้อยกว่าแปรงโละ แต่มีความต้าน (Resistance) มากกว่าแปรงทองแดง และโอกาสที่จะเกิดกระแสไฟวงจรลัดได้น้อยกว่าแปรงชนิดนี้ประกอบเป็นแท่งขึ้น ด้วยถ่านคาร์บอนซึ่งเหมาะสำหรับมอเตอร์ที่มีแรงเคลื่อนต่ำ ไม่เหมาะสำหรับมอเตอร์ที่มีแรงเคลื่อนสูง อีกประการหนึ่ง อาร์มาเจอร์อาจหมุนสลับทิศทางได้ง่าย เนื่องจากความต้านทานของแปรงถ่านมีมากกว่าแปรงทองแดง
ข้อเสียของแปรงถ่านก็มีอยู่มากเช่นเดียวกัน เพราะเกิดความชื้นได้ง่าย เมื่อเกิดความชื่นขึ้น ก็ทำให้แปรงมีอาการเปราะแตกยุ่ยไม่อ่อนตัวเหมือนแปรงโลหะ ทำให้เกิดการหมุนสั่นหรือสัมผัสรับไม่สนิท สรุปแล้ว แปรงถ่านเหมาะที่จะใช้กับมอเตอร์ที่ต้องการกระแสไฟน้อยๆ ในความดันสูง และแปรงทองแดงเหมาะที่จะใช้กับมอเตอร์ที่ต้องการกระแสไฟมาก ในความดันต่ำ อย่างไรก็ดี แปรงถ่านนับได้ว่ามีความปลอดภัยจากวงจรลัดหรือชอร์ทเซอกิท ได้ดีกว่าแปรงทองแดงอยู่มาก