ส่วนประกอบที่สำคัญของมอเตอร์กระแสไฟตรง D.C ขออธิบายเป็นแนวสังเขปให้ทราบคือ
1. โครงสร้างหรือกรอบมอเตอร์ (Frame)
2. ขั้วสนามแม่เหล้ก (Field pole)
3. อาร์มาเจอร์ (Armature)
4. คอมมิวเตเตอร์ (Commutator)
5. แปรงถ่านหรือแปรงไฟ (Brush)
6. ฝาครอบทั้งสองด้าน (End plates)
7. คอยด์สนามแม่เหล็ก (Field coil)
ส่วนประกอบอื่นๆ อีกเล็กน้อยก็คือ สวิทซ์และเฟื่องสตาร์ท และสปริงกดแปรงถ่าน ฯลฯ ซึ่งจะได้กล่าวถึงรวมๆกันไปกับทฤษฎีกับการทำงานให้ทราบอีกครั้งหนึ่งในการประกอบและวิธีพันคอยล์
โครงหรือกรอบของมอเตอร์ สร้างด้วยเหล็กหล่อ (Cast iron) หรือเหล็กเหนียวอย่างดี เป็นโครงหรือส่วนสำหรับยึดขั้วสนามแม่เหล็ก และทำหน้าที่เชื่อมวงจรแม่เหล็กให้ครบวงจร เพื่อให้อาร์มาเจอร์ทำการหมุนผลักดันเส้นแรงแม่เหล็ก มอเตอร์ส่วนมากนิยมใช้เหล็กแผ่นบางเป็นรูปโครงหรือกรอบและให้ขั้วสนามแม่เหล็กตรึงแน่นอยู่กับส่วนโค้งภายในด้วยสลักเกลียว แต่ก็มีมอเตอร์ขนาดเล็กบางชนิด ซึ่งหล่อขั้วสนามแม่เหล็กเป็นเนื้อเหล็กผืนเดียวกับโครง มอเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีโครงและประกอบด้วยขั้วสนามแม่เหล็กแผ่นบางๆ อัด และยึดติดกับด้านในของโครงด้วยสลักเกลียว
ขั้วสนามแม่เหล็ก (Field pole หรือ Field core) ประกอบขึ้นด้วยเหล็กแผ่นบางๆ จากเหล็กหล่อหรือเหล็กอ่อนเหนียวอย่างดี ทำเป็นแผ่นบางขนาดหนาประมาณ 0.025 นิ้ว อบและอาบน้ำยาแล้วนำมาอัดกันหลายๆ แผ่นเป็นปึก สร้างเป็นขั้วสนามแม่เหล็กติดอยู่ภายในของโครงเหล็ก ซึ่งแล้วแต่ขนาดของมอเตอร์ ถ้าขนาดเล็กอาจมี 2 ขั้ว ขนาดใหญ่อาจมีถึง 4-6-8 ขั้วหรือมากกว่านั้น ขั้วสนามแม่เหล็กเป็นตัวที่ทำให้เกิดสนามแม่เหล็ก เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านขดลดวที่พันรอบขั้ว จำนวดขดลวดแต่ละคอยล์และขนาดของสายคอยล์นี้เป็นเครื่องบังคับแรงดันซึ่งต้องการให้มีอยู่ในมอเตอร์หรือหมายถึงอัตรากำลังแรงม้าของมอเตอร์นั้นด้วย เหล็กแผ่นบางๆ ที่ตัดเป็นรูปแล้วนำมาอัดเป็นปึกนี้เรียกว่า Laminated field core
อาร์มาเจอร์ (Armature) หรือที่เรียกกันทั่ว ๆไป ว่า มัดข้าวต้ม ประกอบขึ้นด้วยโลหะแผ่นบางๆ แบบเดียวกับขั้วแม่เหล็ก มีความหนาเท่ากับขนาดของขั้วเช่นเดียวกัน ตัดเป็นวงกลมหลายๆแผ่น เจาะรูกลางสวมเข้ากับเพลาหรือท่อนเหล็ก เป็นรูปทรงกระบอกดังภาพข้างล่างรอบๆ ตัวอาร์มาเจอร์จะมีร่อง (Slots) เป็นทางยาวตามรูป ขนาดร่องเท่าๆกัน สำหรับพันขดลวด ขดลวดดังกล่าวนี้เรียกว่า ขดลวดเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้า (Induction coils) ปลายของขดลวดทุกๆ ปลายที่พันรอบอาร์มาเจอร์ นี้จะต่อไปยังช่องซี่ๆ (segments) ของคอมมิวเตเตอร์
อาร์มาเจอร์ นับได้ว่าเป็นชิ้นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของมอเตอร์ เพราะในการทดลองแบบสร้างมอเตอร์หรือไดนาโมขนาดต่างๆ ส่วนมากจะต้องออกแบบสร้างตัวอาร์มาเจอร์นี้ขึ้นเสียก่อน และจนกว่าจะคำนวณสัดส่วนของอาร์มาเจอร์ให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงจะสร้างส่วนอื่นๆ ประกอบขึ้นมาภายหลัง และส่วนที่สำคัญที่สุดของอาร์มาเจอร์ก็ คือ ขนาดของลวดที่จะนำมาใช้พันเป็นรูปร่าง เพราะจะต้องจัดให้มีขนาดพอเหมาะ สมดุลกับกระแสไฟฟ้าที่ต้องการรวมทั้งปริมาณของลวด หรือหมายถึงจำนวนรอบของแอมแปร์เทินที่กำหนดด้วย
ขนาดของตัวอาร์มาเจอร์นั้น โดยปกติมอเตอร์ขนาด 5 แรงม้า ขนาดของทุ่นมักจะเท่ากับ 8×8 นิ้ว และฟลักซ์ของจำนวน 30,000/1 นิ้ว กระแสไฟ 110 โวลท์ หมุน 1,200 รอบต่อ 1 วินาที การกำหนดขนาดของอาร์มาเจอร์มักถือขนาดของกำลังแรงม้าที่มอเตอร์ต้องการเป็นหลัก และประกอบขึ้นด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้ คือ 1. เพลา (shaft) 2. แกน (core) 3. ขดลวดที่พันทับเยื้องไปมาบนแกน (Spider)
เพลานั้นหมายถึงท่อนเหล็กกลมยาวๆ สำหรับสวมแกนที่อัดด้วยเหล็กแผ่นบางๆ เป็นรูปทรงกระบอกเรียงอัดกันอยู่แน่น มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ เรียกว่า แบบจานทึบกับแบบจานโปร่ง การออกแบบทั้งสองแบบจำเป็นต้องคำนวณให้แผ่นเหล็กที่จะอัดเป็นรูปทุ่นหรือแก่นนี้ มีช่องอากาศถ่ายเทได้ และให้น้ำหนักของตัวทุ่นอาร์มาเจอร์เบาด้วย เพื่อสะดวกในการเคลื่อนหมุน คือจะเอาเนื้อโลหะบริเวณริมวงในของจาน เป็นช่องตรงกันทุกแผ่น ส่วนริมวงนอกก็บากตรงกันให้เป็นร่องยาวๆ และเคลื่อบด้วยฟิล์มของอ๊อกไซต์หรือน้ำมันวานิช เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าไหลผ่านที่แผ่นจากแกนของอาร์มาเจอร์