วิธีการพันตามหลัก มีข้อแตกต่างที่ควรใช้เป็นหลักสังเกตอยู่บ้าง เช่น
1. แบบไบโพล่าร์ (Bipolar) ขนาดเล็ก หรือแบบที่มีอาร์มาเจอร์ขนาดเล็ก ใช้พันด้วยขดลวดขนาดเบอร์ 20 (B and S) ซึ่งเป็นขดลวดขนาดเส้นเล็กและบางอาร์มาเจอร์แบบนี้ ไม่นิยมการพันด้วยมือและมักจะพันด้วยเครื่องจักร เพราะถือว่าการพันด้วยมือ อาจทำให้เหงื่อที่มือของผู้พันมีความเค็มของเกลือ ไปทำลายน้ำยาที่อาบเส้นลวดให้เสื่อมคุณภาพลงไปได้ เพราะอาร์มาเจอร์ขนาดนี้มีร่องพันลวดเล็ก เหมาะพอดีกับเส้นลวดอาบน้ำยาชนิดเปลือย (ไม่มีผ้าดิบหุ้มเป็นฉนวน) และถ้าใช้ลวดที่มีด้ายหรือผ้าดิบบางๆ พันหุ้มต่างฉนวนอยู่ ขนาดของเส้นลวดจะไม่ได้ขนาดพอดีกับร่องอาร์มาเจอร์
2. แบบขนาดกลาง (Medium Size) เป็นอาร์มาเจอร์ที่มีขนาดใช้ธรรมดากันทั่วไป ในมอเตอร์งานต่างๆ นิยมใช้พันด้วยขดลวดขนาดเบอร์ 14 อาร์มาเจอร์ขนาดนี้ใช้พันด้วยเครื่องจักรหรือมือก็ได้ และได้ผลไม่ต่างกันเท่าไรนักในเมืองไทยเรายังไม่มีเครื่องจักรอยู่แพร่หลาย จึงมักจะพันด้วยมือเป็นส่วนมาก
3. แบบไบโพลาร์ขนาดใหญ่ (Bipolar) เป็นอาร์มาเจอร์ที่ใช้กับมอเตอร์ที่มีกำลังแรงม้าตั้งแต่ 1 แรงขึ้นไปแต่ไม่เกิน 3 แรงม้า ส่วนมากใช้มือพัน แต่ถ้าเป็นของใหม่ที่ทำมาจากต่างประเทศจะพันด้วยเครื่อง
4. แบบโฟร์โพล (Four poles) หรือแบบอาร์มาเจอร์ที่มีขั้วไฟ 4 ขั้ว ถ้าเป็นอาร์มาเจอร์ขนาดเล็ก มักใช้พันด้วยลวดขนาดเบอร์ 16-18 มีขั้ว 4 ขั้ว และมีวิธีพันที่เป็นหลักใหญ่อยู่ 2 วิธี ในหลักการพัน
มีวิธีพันขดลวดอาร์มาเจอร์ที่เป็นใหญ่ 2 วิธีดังกล่าวนี้เรียกว่า
ก. การพันแบบ Lap winding
ข. การพันแบบ Wave winding
การพันแบบ Lap Winding เรียกว่าเป็นแบบที่พันด้วยขดลวดโดยรอบ เรียงเส้นขนานกันไปตามรูปของอาร์มาเจอร์ ความแตกต่างระหว่างการพันแบบ Lap กับ แบบ Wave อยู่ที่วิธีการต่อสายตัวนำไปยังบาร์แต่ละบาร์ของคอมมิวเตเตอร์ การพันแบบแลพไวดิ้งนี้ อาจแบ่งแบ่งออกได้ 3 วิธีคือ
1. ซิมเพลกซ์ แลพ ไวน์ดิ้ง (Simplex Lap Winding)
2. ดูเพลกซ์ แลพ ไวน์ดิ้ง (Duplex Lap Winding)
3. ทริพเพลกซ์ แลพ ไวน์ดิ้ง (Triplex Lap Winding)
แบบซิมเพลกซ์ แลพ ไวน์ดิ้ง เป็นแบบเรียบๆและมีการพันถี่ระหว่างบาร์ต่อบาร์ต่างกว่า 2 แบบ คือเริ่มต้นพันร่องแรกเมื่อครบรอบหนึ่งแล้ว เอาปลายสายของขดลวดต่อเข้ากับบาร์คอมมิวเตเตอร์ ทำได้ดังนี้ เอาปลายของสายขดแรกต่อเข้ากับบาร์คอมมิวเตเตอร์ และให้บาร์นี้เป็นที่เริ่มต้นของสายลวดขดที่ 2 ไปจนครบรอบแล้วต่อกับบาร์ ให้บาร์ที่ต่อกับขดลวดเส้นที่ 2 นี้ เป็นที่เริ่มต้นของขดลวดเส้นที่ 3 ต่อไปพันโดยวิธีนี้เรื่อยไปจนกว่าจะครบร่องของอาร์มาเจอร์
แบบดูเพลกซ์ แลพ ไวน์ดิ้ง เป็นแบบที่มีการต่อปลายสายขดลวดที่พันครอบอยู่แล้ว ห่างกันระยะ 2 บาร์ ของคอมมิวเตเตอร์ แล้วจึงเริ่มต้นพันขดลวดต่อไป ทำดังนี้ เอาปลายของสายขดลวดแรกต่อเข้ากับบาร์คอมมิวเตเตอร์ซี่เดียวกับที่ขดลวดขดที่ 3 ดั้งต้นพัน และให้ปลายของขดลวดขดที่ 3 ต่อกับบาร์ ซี่เดียวกับที่ขดลวดขดที่ 5 ตั้งต้นพัน ทำข้ามระยะกัน 2 ช่องบาร์ดังกล่าวเรื่อยไปจนครอบร่อง
แบบทริพเพลกซ์ แลพ ไวน์ดิ้ง เป็นแบบที่มีการต่อปลายสายของขดลวดห่างกันระยะ 3 บาร์ จากที่ตั้งต้นของสาย ทำดังนี้ เอาปลายสายของขดลวดขดแรกต่อกับบาร์คอมมิวเตเตอร์ ซึ่งเป็นบาร์เดียวกับขดลวดขดที่ 4 และปลายขดลวดขดที่ 4 นี้จะเป็นที่เริ่มต้นพันของขดลวดขดที่ 5 ทำดังนี้เรื่อยไปจนกว่าจะครบร่อง
การพันอาร์มาเจอร์แบบซิมเพลกซ์ แลพ เป็นแบบที่เรียกว่ามีความถี่มากที่สุด และมักจะนำไปใช้กับอาร์มาเจอร์ขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นส่วนมาก ส่วนแบบดูเพลกซ์กับแบบทริพเพลกซ์ ไม่ค่อยจะนำไปใช้ในขนาดที่มีขอบเขตมากนัก แต่การพันขดลวดแบบซิมเพลกซ์เป็นแบบที่สามารถจะนำไปต่อเป็นแบบดูเพลกซ์และทริพเพลกซ์ได้ เมื่อต้องการจะทำมอเตอร์ให้หมุนในลักษณะแรงเคลื่อนต่ำและแปรงชนิดที่ใช้กับอาร์มาเจอร์พันแบบดูเพลกซ์ จะต้องสัมผัสกับบาร์คอมิวเตเตอร์อย่างน้อย 2 บาร์ ในขณะที่แปรงซึ่งใช้สำหรับทริพเพลกซ์จะต้องสัมผัสกับบาร์อย่างน้อย 3 บาร์