มอเตอร์กระแสสลับ 2 เฟส แบบรีพัลชัน (Repulstion type motor) เป็นมอเตอร์ประเภทเดียวกับมอเตอร์ที่กล่าวมาแล้วทั้งสองชนิด คือ มีขนาดกำลังแรงม้าตั้งแต่ 1/10 -20 แรงม้า แต่มีคุณลักษณะพิเศษกว่ามอเตอร์ทั้งสองแบบอยู่เล็กน้อย คือมีกำลังเริ่มหมุนสูง (High starting torque) แต่ความเร็วคงที่ (Constant speed) ซึ่งส่วนมากนำไปใช้กับงานที่ต้องการแรงขับ หรือแรงฉุดหมุนสูงในตอนเริ่มทำงานครั้งแรก หรือกล่าวได้ว่า มอเตอร์ชนิดนี้สามารถจะบรรจุงาน (Load) ได้เลยนับแต่เริ่มสตาร์ทมอเตอร์ให้หมุนนิยมใช้เป็นมอเตอร์สำหรับตู้เย็นขนาดใหญ่ หรือเครื่องสูบน้ำ เครื่องอัดลมที่ต้องการแรงฉุดสูง
มอเตอร์แบบรีพัลชันที่ใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป อาจะแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
1. รีพัลชัน สตาร์ทอินดัคชั่น รันมอเตอร์ (Repulstion start, induction run motor)
2. รีพัลชัน มอเตอร์ (Repulstion motor)
3. รีพัลชัน อินดัคชัน มอเตอร์ (Repulstion induction motor)
มอเตอร์ทั้ง 3 ชนิด ที่นิยมใช้กันมากคือชนิดแรก เพราะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์กว่าอีก 2 ชนิด แต่ทั้งสามชนิดซึ่งเป็นมอเตอร์แบบรีพัลชันด้วยกันนี้ ก็ต้องประกอบด้วยโรเดอร์หรืออาร์มาเจอร์ (Armature) ที่พันด้วยขดลวดติดต่อกับหัวคอมมิวเตเตอร์ (Commutator) เช่นเดียวกันซึ่งแตกต่างไปจาก มอเตอร์แบบสพลิทเฟส และคะแพคซิเตอร์ทั้งสองแบบ ก็เนื่องด้วยเป็นมอเตอร์ขนาดเล็กที่ต้องใช้แปรงถ่าน (Brush) และคอมมิวเตเตอร์ แบบเดียวกับมอเตอร์กระแสไฟตรง D.C. ตัวโรเดอร์ที่แท้จริงจึงถูกเรียกว่าอาร์มาเจอร์ พันด้วยสายลวดพร้อมด้วยคอมมิวเตเตอร์ แต่ไม่ได้ต่อกระแสจากแหล่ง ให้เข้าไปในคอมมิวเตเตอร์เลยทีเดียว
มอเตอร์รีพัลชันทั้ง 3 ชนิด ประกอลด้วยส่วนสำคัญดังนี้
1. สเตเตอร์ (Stator) มีส่วนประกอบเช่นเดียวกับสเตเตอร์ของมอเตอร์แบบสพลิทเฟส ดังที่กล่าวมาแล้วแต่มีขดลวดพันอยู่ชุดเดียว คือขดลวดเส้นใหญ่เรียกว่า ขดลวดรันนิ่ง (Running winding) แต่แบบเก่าๆ หรือแบบแรกๆ ที่เริ่มผลิตขึ้น จะมีขดลดวทั้ง 2 ชุด เช่นเดียวกับมอเตอร์แบบสพลิทเฟส ปัจจุบันนิยมใช้ขดลวดพันอยู่ชุดเดียวกัน
2. โรเดอร์ หรือ อาร์มาเจอร์ (Rotor or Armature) รูปทรงกระบอกยาวกว่าโรเดอร์ของแบบสพลิทเฟส ประกอบด้วยร่องบนเกาะของอาร์มาเจอร์ และพันด้วยลวดบนร่องติดต่อกับคอมมิวเตเตอร์ คล้ายอาร์มาเจอร์ของมอเตอร์กระแสไฟตรง D.C. ร่องซึ่งพันขดลดวของอาร์มาเจอร์แบบนี้มักเป็นร่องเฉียงเล็กน้อยทุกร่อง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เฉลี่ยรับเส้นแรงแม่เหล็กจากสเตเตอร์ได้เท่ากัน และเพื่อให้อาร์มาเจอร์มีแรงหมุนบิดในตอนเริ่มหมุนทำงานได้สม่ำเสมอการหมุนของอาร์มาเจอร์ จะได้ไม่มีเสียงดังผิดปกติในขณะทำงานด้วย
3. คอมมิวเตเตอร์ (Commutator) ซึ่งเรียกกันทั่วๆ ไปว่าหัวคอมมิว รูปลักษณะวงแหวนมีร่องซี่กั้นด้วยฉนวนรอบวงแหวน คอมมิวเตเตอร์ของอาร์มาเจอร์แบบนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ ชนิดแอ๊กเชียลคอมมิวเตเตอร์ (axial commutator) ประกอบด้วยซี่หรือร่อง (bars) ขนานกับเพลาอีกชนิดหนึ่ง คือ เรเดียล คอมมิวเตเตอร์ (Radial commutator) ซี่หรือร่องบาร์ตั้งฉากกับเพลา
คอมมิวเตเตอร์ โดยปกติจะไม่ได้ต่อกระแสจากแหล่งใดให้เข้าไปในคอมมิวเตเตอร์เลย แต่จะมีแปรง (Brush) ซึ่งทำหน้าที่ลัดวงจร (Short circuit) อยู่พร้อมกระแสสลับเดินในขดลวดสเตเตอร์ และชักนำให้กระแสเกิดขึ้นในขดลวดอาร์มาเจอร์ กระแสชักนำที่เกิดขึ้นในอาร์มาเจอร์คอยล์ได้ต่อให้ลัดวงจรไว้ด้วยแปรงถ่าน หรือแปลงไฟในทางที่จะทำให้การผลักดันเกิดขึ้นระหว่างขั้วแม่เหล็กที่อยู้ในสเตเตอร์กับขั้วแม่เหล็กที่ชักนำขึ้นในอาร์มาเจอร์ เนื่องจากคอยล์ถูกวงจรลัดจึงพยายามที่จะหมุนนี้ คอยล์อันใหม่ก็ถูกวงจรลัดอีกและหมุนไป คอยล์อันอื่นก็หมุนมาแทนที่และหมุนต่อๆ กันเรื่อยไปตลอดเวลาทำงาน
4. ฝาครอบทั้งสองด้าน (End plates or Brackets) โดยปกติ จะต้องมีตลับลูกปืนหรือแบริ่งหรือบุช สำหรับรองรับการหมุนของเพลาและแกนของทุ่นอาร์มาเจอร์ เป็นการช่วยให้ทุ่นอาร์มาเจอร์หมุนได้สะดวกและอยู่ในแนวศูนย์กลางไม่เสียดสีกับตัวสเตเตอร์ หรือตัวเรือนมอเตอร์
5. แปรงไฟ หรือแปรงถ่าน (Brush) ประกอบขึ้นด้วยถ่านคาร์บอนติดตั้งอยู่ในช่วงยึดแปรงถ่าน (Brush holders) แปรงถ่านมีหน้าที่กดสัมผัสกับพื้นผิวรอบๆ ของคอมมิวเตเตอร์ และเป็นตัวนำกระแสผ่านเข้าไปในขดลวดอาร์มาเจอร์
6. ช่องยึดแปรงถ่าน (Brush holder) ยึดติดกับฝาครอบด้านปลายของทุ่นอาร์มาเจอร์ ที่ประกอบด้วยคอมมิวเตเตอร์ หรือาจจะติดอยู่กับเพลาอาร์มาเจอร์ทางด้านคอมมิวเตเตอร์ ซึ่งสุดแต่มอเตอร์จะประกอบขึ้น