9 มีนาคม 2023 การมัดอาร์มาเจอร์ การมัดอาร์มาเจอร์



การมัดอาร์มาเจอร์ เป็นการมัดเพื่อยึดให้สายลวดที่ต่อกับคอมมิวเตเตอร์ตรึงอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไปจากเดิม วิธีการมัดนี้ ถ้าเป็นอาร์มาเจอร์ขนาดเล็กจะต้องใช้ด้ายหรือเชือกเส้นเล็กๆ มัด เพื่อป้องกันมิให้สายที่พันอยู่บนร่องอาร์มาเจอร์กระจายออกจากร่องได้ ในขณะอาร์มาเจอร์หมุนด้วยความเร็ว และเป็นแรงช่วยป้องกันมิให้ปลายสายหลุดจากคอมมิวเตเตอร์ด้วย ส่วนอาร์มาเจอร์ขนาดใหญ่นั้นจำเป็นจะต้องใช้เส้นลวดเล็กๆ พันแทนด้วย เพราะอาร์มาเจอร์ขนาดใหญ่บางชนิด มีร่องพันลวดเป็นแบบเปิดร่อง(Open-type-slot) การใช้ลวดมัดจึงเท่ากับเป็นการป้องกันไม่ให้ขดลวดหลุดออกจากร่องดังกล่าว

การใช้เชือกหรือด้ายมัด คือเลือกใช้ขนาดของเชือกหรือเส้นด้ายที่เหมาะกับอาร์มาเจอร์ อาร์มาเจอร์ขนาดใหญ่ก็ใช้เชือกเส้นใหญ่สักเล็กน้อย ส่วนขนาดเล็กควรเป็นด้ายฟอกหรือเชือกป่านเล็กๆ ขนาดเบอร์ 8

เริ่มต้นพันจากปลายอาร์มาเจอร์ ติดกับคอมมิวเตเตอร์และพันหลายรอบให้เส้นด้ายหรือเชือกเรียงกัน ปล่อยปลายเชือกหรือชายเชือกที่ตั้งต้นไว้ ให้ยาวประมาณ 6 นิ้ว แล้วพันทับลงไป

เมื่อพันเชือก หรือด้ายมัดไปได้ประมาณ 8 รอบแล้ว ให้เอาปลายเชือกตั้งต้นที่ปล่อยไว้ทำเป็นห่วง พับลงมา แล้วพันทับลงไปบนห่วงเชือกนั้น พันรอบต่อจากรอบที่ 8 ทับลงบนห่วงเชือก หลายๆ รอบจนเกือบถึงแกนอาร์มาเจอร์หรือให้เหลือปลายห่วงไว้เล็กน้อย พอที่จะสอดปลายข้างที่พันมัดนี้เข้าในห่วงแล้วดึงปลายเชือกให้เหลือไว้เล็กน้อย ตัดปลายเชือกที่ยาวเกินไปทิ้ง วิธีนี้จะช่วยดึงปลายที่อยู่ใต้รอบพันนั้นให้ตึงไปด้วย การพันทุกรอบควรดึงให้แน่นด้วย และปลายที่เหลือลอดจากห่วงนี้ จะเหน็บไว้ในรอบพันของขดเชือกไว้ก็ได้

การใช้เส้นลวดมัด อาร์มาเจอร์บางชนิดที่เป็นแบบเปิดร่องพันลวดไว้โดยไม่มีลิ่มอัด ต้องใช้เส้นลวดมัดโดยรอบขวางลำตัว เพื่อป้องกันมิให้ขดลวดหลุดออกจากร่องได้ในขณะอาร์มาเจอร์หมุน โดยวิธีมัดหัวและมัดท้ายหรือเรียกว่า มัดทางขดลวดตั้งต้นและปลายของขดลวด เป็นการมัดที่แตกต่างกว่าการมัดด้วยเชือก

วิธีการมัดด้วยเส้นลวด เราจะต้องจัดให้อาร์มาเจอร์วางอยู่ในแท่นกลึง แล้วใช้กระดาษฉนวนพันรอบลำตัวอาร์มาเจอร์ตรงที่จะพันลวดมัด เพื่อไม่ให้เส้นลวดที่มัดกระทบกับขดลวดภายในร่องอาร์มาเจอร์ได้ ต้องจับกระดาษฉนวนไว้ให้อยู่กับที่ในขณะพันลวดมัดรอบๆ ลำตัว สอดแผ่นสังกะสีหรือแผ่นทองแดงบางๆ ไว้ ใต้ลวดที่มัดสัก 5-6 แผ่น ทิ้งระยะให้ห่างกันรอบลำตัวบนแผ่นกระดาษฉนวน เพื่อประกบลวดที่มัดนั้นอีกชั้นหนึ่ง ส่วนขนาดลวดที่ใช้มัดควรให้เป็นลวดเส้นเล็กๆ พอเหมาะกับอาร์มาเจอร์หรือขนาดที่ใช้มัดของทั่วๆ ไป

การมัดด้วยลวดรอบๆ อาร์มาเจอร์ดังกล่าว ต้องมัดให้แน่นหนา และต้องใช้แรงดึงมากกว่าการมัดด้วยเชือกด้วยเหตุนี้ จึงต้องใช้เครื่องมือพิเศษช่วยในการจับและป้อนเส้นลวดซึ่งเรียกว่า ปากกาจับลวด (Wire clamp) เครื่องมือพิเศษนี้ประกอบด้วยแผ่นไฟเบอร์ 2 แผ่น ประกบกันแน่นด้วยสลักเกลียว 2 ตัว และน๊อตปีก (Wing nut) สำหรับใช้มือหมุนขันและคลายเกลียวได้ 2 ตัว และใช้ปากกาจับลวดนี้ป้อนเส้นลวดไปยังอาร์มาเจอร์ โดยติดตั้งไว้ที่แก่นกลึงหรือโต๊ะทำงาน เพื่อให้สะดวกในการป้อนลวดมัดได้ขณะหมุนอาร์มาเจอร์บนแท่นกลึงช้าๆ อย่าเปิดเครื่องเดินแท่นกลึง เพราะเพียงต้องการวางบังคับอาร์มาเจอร์ให้อยู่ในจานกลึงของแท่น เพื่อหมุนอาร์มาเจอร์ได้รอบๆ โดยสะดวกเท่านั้น และต้องระวังอย่าให้ปากกาจับลวดกดลวดไว้แน่นเกินไปนัก ลวดอาจขาดได้ เมื่อพันลวดมัดได้รอบตามที่ต้องการแล้วจึงพับแผ่นทองแดงบังคับลวดไว้ทุกๆแผ่น และพันลวดมัดอีกข้างหนึ่งต่อไป

การตรวจสอบวงจรขดลวดที่พันใหม่แล้ว

ภายหลังที่พันขดลวด และทำการเชื่อมต่อปลายขดลวดกับบาร์คอมมิวเตเตอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลักสำคัญที่สุดก็คือการตรวจสอบขดลวดทั้งคู่ที่ต่อกับบาร์นี้ เช่น ตรวจวงจรลัด (Short circuit) รั่วลงดิน (Ground) และวงจรขาดหรือเปิด (Open circuit) ให้เป็นที่แน่ใจเสียก่อนว่าการพันขดลวดและการต่อกับคอมมิวเตเตอร์เป็นที่ถูกต้อง จึงจะทำการเคลือบน้ำมันวานิช (Vanishing) ลำตัวอาร์มาเจอร์ได้ ถ้าพบว่าบกพร่องควรรีบแก้ไขเสียก่อน



Tags:
1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (3 votes, average: 4.67 out of 5)
Loading...