มอเตอร์กระแสสลับหรือ เอ.ซี. มีอยู่ด้วยกันหลายแบบดังที่กล่าวมาแล้ว การพันขดลวดของสเตเตอร์และอาร์มาเจอร์ จึงย่อมจะแตกต่างกันอยู่บ้าง ในลักษณะการทำงาน แต่ก็มีหลักการปฏิบัติในวิธีการพันขดลวดไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก ถ้าผู้ทำการพันจะอาศัยการสังเกตในการรื้อของเดิมออก เพื่อทำการพันใหม่ โดยบันทึกตามรายการของเดิมให้ถูกต้องเป็นแนวทางปฏิบัติตาม ก็จะสามารถทำได้
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงหยิบยกเอาอาร์มาเจอร์และสเตเตอร์ของมอเตอร์แบบรีพัลชัน หรืออินดัคชันมอเตอร์ซึ่งเป็นมอเตอร์ที่จะได้พบเห็นอยู่เสมอ ในการนำไปใช้งานต่างๆ ขึ้นมาเป็นแบบอย่างของการพันขดลวด เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับท่านผู้อ่านอีกวิธีหนึ่ง ของการพันขดลวดอาร์มาเจอร์และสเตเตอร์ ส่วนประกอบที่อยู่
การพันอาร์มาเจอร์กระแสสลับ
วิธีพันอาร์มาเจอร์ สำหรับมอเตอร์กระแสไฟสลับแบบรีพัลชัน – สตาร์ท อินดัคชั่น- รัน มอเตอร์ มีวิธีการพันอยู่ 2 แบบเช่นเดียวกับมอเตอร์กระแสไฟตรง คือพันได้ทั้งแบบ แลพไวน์ดิ้ง (Lap Winding) และ เวฟไวน์ดิ้ง (Wave Winding)
การพันแบบแลพ คือแบบซึ่งต่อปลายสายบรรจบของขดลวดกับบาร์คอมมิวเตเตอร์ และให้ประชิดกับปลายตั้งต้นของสายในขดลวดเดียวกัน
การพันแบบเวฟ คือแบบซึ่งให้ปลายตั้งต้นของสายและปลายสายที่มาบรรจบ ต่อกันในด้านตรงกันข้ามกับของคอมมิวเตเตอร์ สำหรับมอเตอร์ชนิด 4 ขั้ว ถ้าเป็นมอเตอร์ที่มี 6 ขั้ว สายตั้งต้นกับปลายสายที่มาบรรจบ จะต่อแยกห่างกันที่บาร์คอมมิวเตเตอร์ ประมาณห่างกันช่วงระยะ 1-3 ของบาร์ และมอเตอร์ที่มี 8 ขั้ว จะแยกห่างกันประมาณ 1-4 ของบาร์
อาร์มาเจอร์ของมอเตอร์แบบนี้ บางชนิดก็อาจมีจำนวนร่องสำหรับพันขดลวดเท่ากับจำนวนร่องเรียกว่า เป็นการพันขดลวดเท่ากับจำนวนร่องของอาร์มาเจอร์ และบาร์คอมมิวเตเตอร์ (One-coil-per-slot) คือมีขดลวดขดเดียวต่อร่องๆ หนึ่งของอาร์มาเจอร์ บางชนิดก็อาจมีจำนวนบาร์ 2 เท่า ของร่องอาร์มาเจอร์ ซึ่งหมายความว่าจะต้องใช้ขดลวด 2 คอยล์ต่อ 1 ร่อง เรียกว่า Two-coil-per-slot การพันแบบ 2 คอยล์นี้ ถือว่าเป็นแบบที่นิยมกันมาก ในการพันขดลวดมอเตอร์ขนาดเล็ก และบางชนิดก็อาจมีจำนวนบาร์ 3 บาร์ ต่อ 1 ร่องของอาร์มาเจอร์ ซึ่งต้องใช้วิธีพันขดลวด 3 คอยล์ต่อ 1 ร่องเช่นเดียวกัน เรียกว่า Three-coil-per-slot